มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในฐานะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐได้ดำเนินงานตามพันธกิจและหน้าที่ในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การเป็นที่ปรึกษา และให้บริการวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ
14
เม.ย. 2565
โครงการพัฒนาต่อยอดด้านการตลาดจาก “ดอนกอยโมเดล” สู่ตลาดสากล

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทีวิโรฒ ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรม“ดอนกอยโมเดลสู่ตลาดสากล” สร้างสรรค์แฟชั่นคอลเลกชั่นร่วมสมัย การพบกันของภูมิปัญญาผ้าทอพื้นถิ่นและนักออกแบบจากแบรนด์ชั้นนำ นำโดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย วัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นถิ่นทางด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการโดยนักออกแบบ นักการตลาด และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ที่มาร่วมบูรณาการองค์ความรู้สำหรับโครงการนี้เป็นการเฉพาะ มอบคำแนะนำในการยกระดับศักยภาพผู้ผลิตในการพัฒนาผ้าไทย สร้างอัตลักษณ์ที่ยากจะลอกเลียน ด้วยการนำมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มาออกแบบลวดลายและการถักทอผืนผ้า การย้อมเส้นใยด้วยสีธรรมชาติจากภายในชุมชนด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่น ไปจนถึงเทคนิคการทอลายในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาในช่องทางต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา "ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการจัดทำโครงการพัฒนาต่อยอดด้านการตลาดจาก “ดอนกอยโมเดล” สู่ตลาดสากล เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม ให้เป็นที่ต้องการของตลาดจนเกิดการพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาผ้าไทย อัตลักษณ์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา การออกแบบลายผ้า การทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติ เทคนิคการทอลายต่าง ๆ นำไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ Premium OTOP สู่สากล โดยผู้เชี่ยวชาญดำเนินการออกแบบแนวคิดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่จะจูงใจและเกิดประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการจนบรรลุเป้าประสงค์ในการดำเนินโครงการฯ และกำหนดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนครอบคลุมเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

ด้านนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มว่า “สำหรับโครงการนี้ มีการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อออนไลน์และออฟไลน์ และมีการจัดทำดิจิตอลแค็ตตาล็อกในรูปแบบของนิตยสารแฟชั่น โดยผ่าน QR Code เรื่องราวการสร้างสรรค์ 250 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย รายละเอียดข้อมูลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถ่ายทอดเรื่องราวที่เข้าใจง่าย สนับสนุนการขายสินค้า มีภาพถ่ายสินค้าต้นแบบและจัดวางรูปเล่มในรูปแบบนิตยสารแฟชั่นที่ทันสมัย ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และมีข้อมูล ชื่อคอลเลคชั่น แรงบันดาลใจ ข้อมูลผู้ประกอบการและช่องทางการติดต่อ เพื่อสนับสนุนการขายผ่านระบบ Online และ E-Commerce จะช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งหมดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและต่อยอดการทำผลิตภัณฑ์ได้อย่างยั่งยืน”